การรักษาฝ้าด้วย pico laser

 
 

เลเซอร์กลุ่ม picosecond สำหรับการรักษาฝ้า

ปัจจุบันได้มีการนำเลเซอร์กลุ่ม picosecond ซึ่งเป็นเลเซอร์ที่มี ความยาวคลื่นอยู่ในช่วง 300-900 พิโกวินาที มารักษารอยดำอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากรอยสัก เช่น กระตื้น กระลึก กระแดด รวมทั้งฝ้า มากขึ้น เลเซอร์กลุ่ม picosecond ที่มีในปัจจุบันสามารถ แบ่งกลไกการทำงานตามลักษณะของหัว (handpiece) เป็น 2 ชนิด ได้แก่ หัวชนิดปกติ และหัวชนิดที่สามารถปล่อยพลังงานออกเป็นส่วน ๆ (fractional microlens optic ) หรือ เรียกว่า "fractional picosecond laser" โดยกลไกที่เกิดจากหัวปกติได้แก่ การเกิดการสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง (photoacoustic) เนื่องจากพลังงานแสงถูกดูดกลืนจนเกิดเป็นแรงดันในตัวรับพลังงาน (chromophore) ส่งผลให้ตัวรับพลังงานแตกกระจายออกโดยไม่ทำให้เกิดการสะสมความร้อนในบริเวณข้างเคียง

สำหรับกลไกของ fractional picosecond laser ได้แก่ การเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า laser-induced optical break down (LIOB) โดยเลเซอร์ก่อให้เกิดปฏิกิริยา "thermoionization" ของเม็ดสี melanin และเกิดการสร้างของอิเล็กตรอนขึ้นส่งผลให้เกิดพลังงานพลาสมาที่ร้อนจัดจนกลายเป็นช่องว่างในผิวหนังชั้นบน (intra-epidermal cavities)

เลเซอร์ในกลุ่ม picosecond ในปัจจุบันที่ใช้รักษารอยโรคที่มีสีผิวคล้ำขึ้น เช่น picosecond Nd:YAG (532 และ 1,064 nm), picosecond alexandrite (755 nm) เป็นต้น
สำหรับข้อมูลการรักษาฝ้าด้วย Picosecond laser เริ่มมีรายงานเมื่อไม่กี่ปี
เริ่มในปี ค.ศ. 2017 จนถึงปัจจุบัน พบว่าข้อมูลการรักษาฝ้าด้วย picosecond laser ยังมีจำกัด เนื่องจากการศึกษาส่วนใหญ่ยังมีจำนวนผู้เข้าร่วมวิจัยไม่มาก และมีการติดตามผู้ป่วยในระยะเวลาจำกัด และจากประสบการณ์ของแพทย์เอง พบว่าการตอบสนองต่อ picosecond laser มีความแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ดังนั้นตนเองจึงแนะนำว่า การรักษาฝ้าด้วย picosecond laser เป็นการรักษาทางเลือกให้กับผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อ การรักษาหลัก เช่น การใช้ยา การหลีกเลี่ยงแสงแดด เป็นต้น โดยสามารถทำเพื่อเสริมการรักษาได้ แต่ไม่ควรใช้วิธีดังกล่าวเป็นการรักษาหลัก

 

ผลข้างเคียงของการรักษาด้วย picosecond laser

สำหรับผลข้างเคียงของ picosecond laser ที่อาจพบได้ เช่น อาการผิวแดง ฝ้าเข้มขึ้น ชั่วคราว จุดขาว (mottled hypopigmentation) ได้ 

การรักษาฝ้าด้วย picosecond laser จัดว่าเป็นวิธีการศึกษาที่ใหม่ และการศึกษาถึงผลของเลเชอร์ชนิด picosecond laser ต่อการรักษาฝ้ายังมีจำกัด ในปัจจุบันจึงยังไม่พบผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ 

สรุป
การรักษาฝ้าด้วยเลเซอร์จัดเป็นการรักษาอีกชนิดหนึ่งที่สามารถใช้เป็นการรักษาเสริมเพื่อให้ผลการรักษาดีขึ้นได้ แต่การรักษาด้วยเลเซอร์ที่เป็นการกำจัดเม็ดสี melanin ส่วนเกินที่ถูกผลิตมากขึ้นจากเซลล์ melanocyte ที่ทำงานมากขึ้นนั้น การรักษาฝ้าด้วยเลเซอร์เพียงอย่างเดียวอาจไม่ช่วยป้องกันการเกิดฝ้าใน
อนาคต เนื่องจากเลเซอร์ไม่ได้มีลไกลดการทำงานของเซลล์ melanin แต่อย่างใด นอกจากนี้มีข้อควรพิจารณาก่อนทำการรักษาด้วยเลเซอร์ ดังนี้

1)การรักษาด้วยเลเซอร์ที่มีความจำเพาะต่อเม็ดสี melanin จัดเป็นเลเซอร์ที่มีงานวัจัยรองรับปริมาณมาก จัดได้ว่าเป็นเลเซอร์ที่สามารถนำมาใช้ในการรักษาฝ้าได้ อย่างไรก็ตามผลการรักษายังมีความหลากหลาย และการตอบสนองอาจไม่ได้เป็นในทางเดียวกันทั้งหมด ผู้รักษาจึงควรทราบถึงผลการรักษาที่คาดว่าจะได้รับ และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ก่อนทำการรักษาฝ้าด้วยเลเซอร์ทุกครั้ง

 

2) ถึงแม้จะมีการศึกษาวิจัยใหม่ ๆ เกี่ยวกับเลเซอร์ที่มีความจำเพาะต่อเม็ดสี melanin สำหรับการรักษาฝ้า แต่การแปรผลต้องระมัดระวังเนื่องจากการศึกษา
randomized, double-blinded, controlled study ยังมีปริมาณจำกัดและจำนวนของอาสาสมัครยังมีไม่มาก นอกจากนี้การเปรียบเทียบผลการรักษาของแต่ละเครื่องอาจทำได้ยากเนื่องจากมีความหลากหลายของชนิดของเครื่อง และการตั้งค่าพลังงานที่แตกต่างกันไป

 

3) เลเซอร์ในการรักษาฝ้าไม่ควรจะทำทุก 1-2 สัปดาห์ ซึ่งทำบ่อยเกินและไม่จำเป็น ในทางปฏิบัติไม่แนะนำให้ทำการรักษาฝ้าด้วยเลเซอร์บ่อยเนื่องจากอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ โดยเฉพาะรอยขาวจากเลเซอร์ (mottled hypopigmentation ) ซึ่งในบางรายเป็นถาวรได้

 

4) เมื่อฝ้าจางลงแล้ว ควรมีการป้องกันไม่ให้ฝ้ากลับเป็นซ้ำด้วย เช่น การทายาบางชนิด การใช้เวชสำอาง การป้องกัน แสงรวมทั้งการทาสารกันแดดร่วมด้วยทุกครั้ง เพื่อลดการทำงานของเซลล์ melanocyte