คลื่น ultrasound คลื่นเสียง กับ ความงาม

 
 

Ultrasound skin tightening

Ultrasound หรือคลื่นเสียงความถี่สูง คือ คลื่นเสียงที่มีความถี่เกินกว่าที่หูของมนุษย์จะได้ยิน ตามปกติ ultrasound จะมีความถี่ไม่ต่ำกว่า 18 กิโลเฮิรตซ์ ชนิดของ ultrasound สามารถแบ่งชนิดของ ultrasound เป็น 2 ชนิดตามความถี่ ได้แก่

1. Low frequency ultrasound ได้แก่ ultrasound ที่มีความถี่ 18-250 กิโลเฮิรตซ์
2. High frequency ultrasound ได้แก่ ultrasound ที่มีความถี่มากกว่า 250 กิโลเฮิรตช์

 

ความถี่ของ ultrasound จะแปรผกผันกับความสามารถในการเดินทางเข้าสู่ร่างกาย กล่าวคือ ultrasound ที่มีความถี่ต่ำจะสามารถเดินทางสู่เนื้อเยื่อหรืออวัยวะชั้นลึกได้ดี ในขณะที่ ultrasound ความถี่สูงจะเดินทางได้ถึงแค่ผิวหนังชั้นบนเท่านั้น เช่น ultrasound ที่มีความถี่ในระดับ 7.5 เมกะเฮิรตซ์ จะสามารถลงสู่ผิวหนังในระดับชั้นไขมันใต้ผิว (subcutaneous tissue) ในขณะที่ ultrasound ที่มีความถี่ในระดับ 50-100 เมกะเฮิรตซ์ จะสามารถลงสู่ผิวหนังในระดับชั้น หนังกำพร้า (epidermis) 

นอกจากนี้ยังแบ่งชนิดของ ultrasound ตาม mode การปล่อยพลังงาน ได้แก่

1. Non-focused ultrasound ได้แก่  ultrasound ที่มีพลังงานสูงสุดบริเวณที่หัวปล่อยพลังงาน (transducer) ที่สัมผัสกับผิวหนังและพลังงานจะลดลงเรื่อย ๆ เมื่อระยะทางจากจุดที่ปล่อยพลังงานห่างขึ้น
2. Focused ultrasound ได้แก่ ultrasound ที่มีพลังงานต่ำสุดบริเวณที่หัวปล่อยพลังงาน (transducer) สัมผัสกับผิวหนัง และพลังงานจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงระยะโฟกัส

 

Ultrasound ทางการแพทย์

ในทางการแพทย์ สามารถนำ ultrasound มาใช้ประโยชน์ได้หลายชนิด เช่น การวินิจฉัยโรคซึ่งมักจะใช้ ultrasound ชนิด non-focused mode สำหรับการนำ ultrasound มาใช้เพื่อการรักษา นิยมใช้ focused mode เนื่องจากต้องการให้เกิดความเข้มข้นของพลังงาน ในบริเวณที่ต้องการรักษา เช่น การสลายนิ่ว การสลายเนื้องอกบางชนิด การสลายไขมัน การยกกระชับผิวหนัง 

 

สำหรับในด้านความงาม

สามารถนำ focused ultrasound มาใช้แก้ปัญหาความงามบางชนิดได้
เช่น การลด์ไขมัน การยกกระชับผิวหนัง 
 

ในด้านการยกกระชับผิวหนังเพื่อแก้ไขความหย่อนคล้อยนิยมใช้ ultrasound ชนิด microfocused ultrasound โดยจะปล่อยพลังงานที่ต่ำกว่าการสลายไขมัน โดยทั่วไปจะใช้พลังงานที่ 0.4-1.2 J/mm2 ความถี่ประมาณ 4-10 เมกะเฮิรตซ์ และมีระยะโฟกัสที่ประมาณ  1.5-4.5 มม. ใต้ผิวหนัง ถึงแม้ว่าพลังงานที่ใช้ จะต่ำกว่าพลังงานที่ใช้สำหรับทำลายเนื้อเยื่อชั้นไขมัน แต่ก็พบว่าด้วยพลังงานและความลึก ดังกล่าว จะทำให้เกิดความร้อนขึ้นใต้ผิวหนัง เป็นอุณหภูมิ 60-65 'C และเกิด thermal coagulative zone เป็นเส้นที่มีขนาดเล็กกว่า 1 mm ในบริเวณ mid และ deep reticular dermis รวมทั้งชั้นไขมันระดับตื้นที่ผิวหนังและชั้น superficial musculoaponeurotic system (SMAS) จึงทำให้เกิดการตึงตัวขึ้นของเนื้อเยื่อดังกล่าว  ส่งผลให้เกิดการยกตัวของผิวหนัง ทั้งนี้หากทำการเพิ่มพลังงานจะทำให้ thermal coagulative zone มีขนาดกว้างขึ้น

 

กลไกของ microfocused ultrasound

สำหรับกลไกการทำงานของ focused ultrasound ได้แก่ การเปลี่ยนพลังงานจากคลื่นเสียงกลายเป็นความร้อน (thermo-mechanical process) โดยคลื่นเสียงจะถูกดูดซึมโดยเนื้อเยื่อทำให้เกิดการสั่นสะเทือนของโมเลกุลในเนื้อเยื่อ หลังจากนั้นจะเกิดความร้อนขึ้นเป็นแถบภายในผิวหนัง เมื่อได้รับคลื่นเสียงในพลังงานที่มากขึ้นและช้ำไปมา ก็จะเกิดความร้อนพื้นที่กว้างขึ้น ความร้อนที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิด coagulative necrosis ของเนื้อเยื่อภายใต้ผิวหนังซึ่งขึ้นกับระดับความลึกของหัว microfocused ultrasound ที่ปล่อยพลังงาน โดยทั่วไปชั้น SMAS ของใบหน้าซึ่งอยู่ใต้ผิวหนังที่ระดับความลึกประมาณ 4.5 มม. จัดเป็นชั้นของผิวหนังที่เป็นเป้าหมายหลักของ microfocused ultrasound กล่าวคือหากเกิด coagulative necrosis ของชั้น SMAS จะทำให้เกิดการสร้างเนื้อเยื่อ SMAS ใหม่ที่แข็งแรง ส่งผลให้เกิดการยกตัวของผิวหนังบริเวณใบหน้า นอกจากนี้อุณหภูมิที่เกิดขึ้นภายใต้ผิวหนังซึ่งเกิดจากการใช้หัว microfocused ultrasound ที่มีระดับความลึกต่าง ๆ กัน จะทำให้เกิดการหดตัวของเนื้อเยื่อในระดับต่าง ๆ รวมทั้งการสร้างcollagen และ elastin ด้วย ดังนั้นจึงช่วยเสริมการยกตัวของผิวหนังมากยิ่งขึ้น

 

เมื่อเปรียบเทียบ microfocused ultrasound
กับ monopolar radiofrequency

พบว่า monopolar radiofrequency (คลื่นวิทยุแบบขั้วเดียว) ทำให้เกิดการสร้าง collagen ในผิวหนังชั้น papillary dermis,upper, mid, แaะ deep reticular dermis รวมทั้ง elastin ในผิวหนังชั้น papillary dermis, upper และ mid reticular dermis ในขณะที่ microfocused ultrasound ทำให้เกิดการสร้าง collagen และ elastin ในผิวหนังชั้น deep reticular dermis แต่ในปริมาณที่มากกว่า monopolar radiofrequency หรือกล่าวใน โดยรวม monopolar radiofrequengy ทำให้เกิดการสร้าง collagen และ elastin ในลักษณะทั่ว ๆ ไปในผิวหนัง แต่ microfocused ultrasound ทำให้เกิดการสร้าง collagen และ elastin ในผิวหนังชั้นลึกเพียงอย่างเดียวแต่ในปริมาณที่มาก เพื่อสร้างเสริมการรักษาซึ่งกันและกันระหว่างชั้นตื้นและชั้นลึก จึงมีการทำคู่กันระหว่างหัตถการสองอย่างนี้ 

 

ข้อบ่งชี้ของ microfocused ultrasound ข้อมูลจากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา

ในปี ค.ศ. 2018 พบว่าข้อบ่งชี้หลักของการรักษาด้วย microfocused utrasound ที่ได้รับการรับรอง (US FDA approved indication) ได้แก่

1. เพื่อยกกระชับผิวหนังบริเวณคิ้ว ทำให้คิ้วยกขึ้น
2. เพื่อยกกระชับผิวหนังบริเวณคาง และใต้คาง
3. เพื่อรักษาริ้วรอยและรอยย่นบริเวณคอตอนล่าง (Decolletage area)

การรักษาสภาพปัญหาอื่น ๆ ในลักษณะ off label indication ได้ เช่น ผิวหนังใต้ตา ร่องแก้ม ร่องมุมปาก เป็นต้น ทั้งนี้ผลการรักษาอาจแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย

 

ข้อห้ามในการรักษาด้วย microfocused ultrasound

เนื่องจาก microfocused ultrasound ทำให้เกิดความร้อนใต้ผิวหนังรวมทั้งโครงสร้างต่าง ๆภายในผิวหนัง และทำให้เกิดการสร้างคอลลาเจนและอีลาสตินในผิวหนัง ดังนั้นข้อห้ามของการรักษาด้วย microfocused ultrasound ได้แก่

1. บริเวณที่เป็น keloid
2. บริเวณที่มี skin implant บริเวณที่เคยทำการร้อยไหม รวมทั้งบริเวณที่เคยฉีดสารเติมเต็มชนิด permanent เนื่องจากอาจทำให้วัสดุหรือสารใต้ผิวหนังเสียหายได้
3. ควรหลีกเลี่ยงในผู้ที่มีโรคเลือดแข็งตัวยาก ผู้ที่มีการหายของแผลไม่ดี ผู้ที่เป็นโรค autoimmune connective tissue disease (โรคพุ่มพวง)
4. บริเวณผิวหนังที่เป็นแผลเปิด
5. บริเวณผิวหนังติดเชื้อ รวมทั้งบริเวณ cystic acne (สิวหัวช้าง)
6. ผู้ป่วยตั้งครรภ์และให้นมบุตร เนื่องจาก ข้อมูลด้านความปลอดภัยยังไม่เพียงพอ

เห็นผลชัดเจนเมื่อไหร่

ผลของการรักษาด้วย microfocused ultrasound จะเริ่มเห็นที่ 1-3 เดือน ภายหลังรักษาและผลการรักษาจะอยู่ได้นาน 6-18 เดือนภายหลังการรักษา ทั้งนี้ขึ้นกับการเลือกความลึกของ microfocused ultrasound การตั้งค่าพลังงาน จำนวนนัดที่ทำการยิง รวมทั้งการเลือกผู้ป่วยที่เหมาะสมด้วย

 

ใครเหมาะกับ microfocused ultrasound

โดยทั่วไป microfocused ultrasound จะเหมาะกับผู้ที่มีสภาพปัญหาในระดับ mild to moderate skin and soft tissue laxity และมีอายุไม่มาก สำหรับผู้ที่มีอายุมาก มีภาวะ severe photodamage ผู้ที่สูบบุหรี่ และผู้ที่มีภาวะอ้วนที่มี body mass index มากกว่า 30 kg/m2 จะให้ผลการรักษาไม่ดีเท่ากับผู้ที่มี body mass index น้อยกว่าหรือเท่ากับ 30 kg/m2

 

ผลข้างเคียงของการรักษาด้วย microfocused ultrasound

สำหรับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการรักษาด้วย microfocused ulttrasound ได้แก่
1. อาการปวด ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ขณะทำและภายหลังทำ 1-2 สัปดาห์ โดยเฉพาะหากทำเหนือบริเวณกระดูกและทำซ้ำในตำแหน่งเดิม
2. ผิวหนังบวม นูน และมีลักษณะเป็น wheal เกิดจากความร้อนที่มากเกินไป หรือเกิดจากความร้อนที่อยู่ในผิวชั้นตื้น 
3. Vascular injury หากใช้พลังงานสูงและเกิด thermal coagulation บริเวณหลอดเลือด ทำให้เกิดจ้ำเลือดภายหลังทำใด้
4. Nerve injury อาจทำให้เกิด eyebrow ptosis และ lip paralysis ได้
5. Eye injury หากทำบริเวณใกล้ดวงตา หรือ ทำบริเวณเปลือกตาและเลือกหัว utrasound ที่ความลึกไม่เหมาะสม
6. ผิวหนังพอง และไหม้ เกิดจากการวางหัวไม่แนบกับผิวหนัง อาจตามมาด้วยแผลเป็นถาวรได้ 

 

สรุป

การรักษาภาวะผิวหนังหย่อนคล้อยด้วยวิธี microfocused ultrasound จัดเป็นวิธีที่ไม่ซับซ้อนและไม่ต้องอาศัยการพักฟื้นหลังทำแต่อย่างใด ผลการรักษาจะดีมากหรือน้อยขึ้นกับปัจจัยต่าง ๆ เช่น เทคนิคการรักษา การตั้งค่าพลังงาน การเลือกความลึกของหัว ultrasound รวมทั้งการเลือกผู้ป่วย ที่เหมาะสมที่มีสภาพปัญหาที่ตรงกับข้อบ่งชี้ในการรักษา